50 เรื่องราวน่าสนใจจากแฟรนไชส์ Jurassic Park

Movie News12 มิถุนายน 2561

          นับจากวันแรกที่ Jurassic Park (1993) เข้าฉาย จนถึงวันนี้ก็ 25 ปีแล้ว ที่โลกภาพยนตร์ได้พาผู้ชมเข้าไปสัมผัสประสบการณ์น่าทึ่ง ได้เห็นไดโนเสาร์กลับมามีชีวิตอย่างสมจริง มาถึงวันนี้ Jurassic Park ก็สานต่อเรื่องราวในแฟรนไชส์มาแล้วถึง 5 ภาค ผ่านผู้กำกับมา 4 คนทำรายได้รวม 1,419 ล้านเหรียญ และแน่นอนว่าหนังจะต้องสานต่อไปถึงภาค 6 จนครบ 2 ไตรภาค ตลอดระยะเวลา 25 ปีหนังได้สร้างตำนานและเรื่องราวน่าสนใจทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลังไว้มากมาย และเชื่อว่าหลายๆ เรื่องผู้อ่านน่าจะยังไม่เคยรู้มาก่อน อ่านแล้วอาจจะทำให้อยากไปหาภาคเก่ามาย้อนดูอีกรอบก็เป็นได้



1. ในกองถ่าย อยู่ดีๆ เจ้าหุ่นยนต์ ที-เร็กซ์ ก็ขยับได้เอง ทำเอาทีมงานขวัญหนีดีฝ่อ แคทเธอลีน เคเนดี้ ผู้อำนวยการสร้าง เล่าให้ฟังว่า "เจ้าหุ่นที-เร็กซ์ บางทีก็ทำเอาทีมงานกระเจิงกันไปหมด เรากำลังพักกินข้าวกลางวันอยู่ดีๆ เจ้าที-เร็กซ์ มันก็ทำงานขึ้นมาได้เอง ตอนแรกเราก็งงกันว่ามันเกิดอะไรขึ้น จนภายหลังถึงรู้ว่าฝนทำให้กระแสไฟมันลัดวงจร แต่กว่าจะรู้สาเหตุทีมงานก็กรีดร้องขวัญเสียกันไปหมดแล้ว"



2. หุ่นที-เร็กซ์ มันก็อันตรายจริง ทีมงานที่ทำงานกับหุ่นอนิเมทรอนิคส์ ที-เร็กซ์ต่างต้องระมัดระวังความปลอดภัยกันทุกคน เพราะเจ้าหุ่นตัวนี้หนักกว่า 5 ตัน แล้วก็แข็งแรงมากด้วย ในกองถ่ายจะใช้ไฟกะพริบในการเตือนทีมงานว่าหุ่นที-เร็กซ์ กำลังจะเคลื่อนที่มา เพื่อให้ทีมงานเตรียมพร้อมระมัดระวัง เพราะถ้าใครไปเกะกะแถวหัวมัน ตอนที่มันเหวี่ยงหัวไปมา ก็จะเหมือนโดนสิบล้อชนเข้าเลยนะ



3. ในJurassic Park ภาคแรก ตอนที่ที-เร็กซ์ โจมตีรถฟอร์ด เอ็กพลอเรอร์ แล้วหลังคากระจกรูฟท็อปร่วงลงมาหาเด็ก ๆ นั่นเป็นเหตุบังเอิญนะ ฉะนั้นไม่ต้องแปลกใจที่ดาราเด็กในฉากนั้นกรีดร้องกันได้สมจริง



4. เอเรียน่า ริชาร์ด สาวน้อยที่ได้บท เล็กซ์ ริชาร์ด หลานสาวของจอห์น แฮมมอนด์ ได้บทนี้เพราะเสียงกรีดร้องของเธอ , สตีเวน สปิลเบิร์ก ให้ผู้เข้าทดสอบบทนี้ทุกคนส่งเทปที่บันทึกภาพตนเองขณะกรีดร้องมาให้เขาคัดเลือก แล้วสปิลเบิร์ก ก็ดูเทปเหล่านี้ที่บ้าน พอถึงเทปของเอเรียน่า ริชาร์ด เสียงเธอกรีดร้องดังลั่นไปจนถึงชั้นสอง ปลุกให้เคต แคปชอว์ ภรรยาของสปิลเบิร์ก ตื่นขึ้น และรีบลงมาชั้นล่างเพื่อดูว่าเกิดอะไรขึ้น



5. เสียงของที-เร็กซ์ เกิดจากการผสมเสียงของ หมา , เพนกวิน , เสือโคร่ง , จระเข้ และ ช้าง



6. หุ่นสไปโนเซารัส ใน Jurassic Park 3 เป็นหุ่นอนิเมทรอนิคส์ ที่ใหญ่ที่สุดที่เคยสร้างมา มันมีน้ำหนักถึง 12 ตัน ทำงานด้วยระบบไฮดรอลิค และสามารถลงไปอยู่ในน้ำได้ด้วย ในตัวหุ่นใช้มอเตอร์ที่มีกำลังขับถึง 1,000 แรงม้า ทำให้มันสามารถสะบัดหัวได้ด้วยความเร็วถึง 100 ไมล์ต่อชั่วโมง



7. ในหนัง The Lost World มีฉากที่แสดงถึงการเคารพต่อหนัง Godzilla ของญี่ปุ่น ในตอนที่ที-เร็กซ์ วิ่งเตลิดบนถนนในซานดิเอโก แล้วมีนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นวิ่งหนีหน้าตาตื่น พร้อมตะโกนร้องว่า "ฉันหนีมาจากญี่ปุ่น ก็เพื่อจะหนีให้พ้นไอ้พวกนี้แหละ"



8. ฉากเปิดใน Jurassic Park 3 เป็นภาพมุมกว้างให้เห็นถึงแคมป์จริงๆ ของ แจ็ค ฮอร์เนอร์ ผู้เชี่ยวชาญไดโนเสาร์ตัวจริงกำลังขุดซากฟอสซิลของ ไทรันโนเซารัส และ ฮาโดรซอว์ ฉากนี้ถ่ายทำในปี 2001



9. ในบทภาพยนตร์ฉบับถ่ายทำจริง ในฉากที่ที-เร็กซ์ หลุดออกมา เอียน มัลคอล์ม บทของ เจฟฟ์ โกลด์บลัม จะเปิดประตูรถแล้ววิ่งหนีไป แต่เจฟฟ์ โกลด์บลัม เกิดไอเดียที่น่าสนใจให้บทของเขาเอง ด้วยการแนะนำว่าฉากนี้เขาควรจะมีความเป็นวีรบุรุษกว่านี้ ด้วยการกวัดแกว่งพลุไฟ เรียกร้องความสนใจให้ที-เร็กซ์ วิ่งไล่ตามเขาออกห่างจากรถ เพื่อเด็กๆ จะได้ปลอดภัย

10. เพื่อความน่ากลัวของตัวแรปเตอร์ สปิลเบิร์ก ขอให้ออกแบบตัวแรปเตอร์ที่มีความสูงกว่า 3 เมตร ซึ่งใหญ่กว่าแรปเตอร์จริงตามบันทึกประวัติศาสตร์ และอาจจะถูกผู้เชี่ยวชาญโจมตีถึงการบิดเบือนข้อมูลทางไดโนเสาร์ แต่ระหว่างถ่ายทำ ผู้เชี่ยวชาญทางไดโนเสาร์ ก็ดันไปค้นพบแรปเตอร์สายพันธุ์ใหม่ที่สูงกว่า 3 เมตรจริงๆ ชื่อว่า "ยูทาร์แรปเตอร์"



11. Jurassic Park ทุกภาคจะมีฉากที่คารวะต่อหนังในอดีตของ สตีเวน สปิลเบิร์ก

Jurassic Park (1993) ในห้องควบคุมระหว่างที่เจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์ กำลังถกเถียงอยู่กับจอห์น แฮมมอนด์ ถ้ามองไปฉากหลังจะเห็นจอทีวีกำลังเปิดหนังเรื่อง Jaws (1975) ผลงานกำกับเรื่องแรก ๆ ของสตีเวน สปิลเบิร์ก

The Lost World: Jurassic Park (1997) ฉากที่รถบัสพุ่งชนร้านเช่าวีดีโอ จะมองเห็นโปสเตอร์หนัง Hook (1991) ติดอยู่ภายในร้าน

Jurassic Park III (2001) ฉากที่อลัน แกรนต์ และ พอล เคอร์บี้ คุยกันในบาร์ จะมีโต๊ะพินบอลที่แปะชื่อ Jurassic Park
(1993) วางอยู่ในฉากด้านหลัง

Jurassic World (2015) ฉากที่ฉลามขาวถูกใช้เป็นเหยื่อให้ไดโนเสาร์ยักษ์โผล่จากน้ำมากิน ก็เป็นฉากที่ชวนให้ระลึกถึงฉากหนึ่งในหนัง Jaws (1975)

Jurassic World: Fallen Kingdom ฉากที่อินโดแรปเตอร์บุกเข้าไปในห้องนอนของเมซีย์ ที่เธอขดตัวอยู่ใต้ผ้าห่ม การตกแต่งห้องนอนดูออกแนวเทพนิยาย ทั้งข้าวของและการจัดแสง กรอบหน้าต่างชวนให้นึกถึง Hook (1991) ฉากที่เด็ก ๆ โดนกัปตันฮุคลักพาตัวไปจากบ้านของเว็นดี้



12. นักแสดงทุกคนใน Jurassic Park จะได้รับของขวัญจากสตีเวน สปิลเบิร์ก เป็นหุ่นจำลองแรปเตอร์ขนาดใหญ่พร้อมลายเซ็นของสปิลเบิร์ก เอเรียน่า ริชาร์ด ชอบใจเอามันไปตั้งไว้หน้าประตูบ้าน พอใครเปิดเข้ามาบ้านก็จะตกใจ ,เจฟฟ์ โกลด์บลัม ชอบมันมากเอามาตั้งโชว์ไว้กลางบ้าน ส่วนลอร่า เดิร์น เอาไปตั้งไว้ข้างคอกกั้นของลูกชายตั้งแต่เขายังเล็ก แต่พอโตขึ้นมาลูกชายก็ดันตกใจกลัวหุ่นแรปเตอร์ตัวนี้ เธอเลยต้องเอาไปเก็บไว้ในห้องเก็บของ



13. บี.ดี. หว่อง เป็นนักแสดงที่มีชื่อขึ้นในเครดิตเปิดเรื่องคนแรกๆ ใน Jurassic Park (1993) แม้ว่าเขาจะได้ปรากฏตัวอยู่แค่ 2 นาที แต่กลับกลายเป็นว่าเขาเป็นนักแสดงคนเดียวจากไตรภาคแรกที่ได้กลับมาอีกครั้งใน Jurassic World (2015)

14. กระแสตื่นเต้นกับการกลับมามีชีวิตบนจอภาพยนตร์ของเหล่าไดโนเสาร์ใน Jurassic Park ภาคแรกที่ออกฉายในปี 1993 นั้นส่งผลให้หนังทำลายทุกสถิติ หนังเปิดตัวในสุดสัปดาห์แรกด้วยตัวเลข 47 ล้านเหรียญ และทำรายได้ทั่วโลกทะลุ 1,000 ล้านเหรียญ เดวิด โคเอ็ปป์ คนเขียนบทภาพยนตร์ของภาคนั้นรำลึกบรรยากาศให้ฟังว่า "ผมเดินไปที่โรงหนังแถวบ้านตอนเย็นวันศุกร์เพื่อดูว่าบรรยากาศเป็นอย่างไรบ้าง มีคนมามุงเข้าคิวซื้อตั๋วมากมาย แล้วก็มีพนักงานออกมาประกาศเสียงดังว่า "สุภาพบุรุษและสุภาพสตรีครับ ตั๋วรอบ 1 ทุ่มขายหมดแล้วครับ ผู้คนเหล่านั้นต่างก็ตะโกนตอบรับด้วยเสียงผิดหวัง "โอ้ววว" พนักงานยังประกาศต่อไปว่ารอบ 4 ทุ่มก็ขายหมดด้วยครับ และรวมถึงรอบ 1 ทุ่มกับ 4 ทุ่มของวันพรุ่งนี้ก็ขายหมดแล้วด้วยครับ"



15. อาการป่วยของไทรเซอราท็อปที่ไม่ถูกอธิบายในหนัง ใน Jurassic Park (1993) ดร.อลัน แกรนต์ และ เอลลี่ ต้องเจอกับไทรเซอราท็อป ที่นอนป่วยอยู่แต่ไม่ทราบสาเหตุและไม่ถูกอธิบายไว้ในหนัง แต่ในนิยายของไมเคิล ไครช์ตัน ได้ถูกอธิบายไว้อย่างละเอียดว่า ไทรเซอราท็อป อยู่ในช่วงพักฟื้นจากการสำรอกอาหาร เพราะไทรเซอราท็อปไม่มีฟันที่จะบดเคี้ยวอาหารชิ้นใหญ่ เหมือนสัตว์จำพวกนก จึงใช้วิธีกลืนก้อนหินลงไปในกระเพาะเพื่อช่วยในการบดชิ้นอาหาร เพื่อช่วยในระบบการย่อย แล้วไทรเซอราท็อปก็จะกินลูกอินเดียนไลแลคเบอร์รี่ แล้วก็จะสำรอกก้อนหินเหล่านั้นออกมา นั่นจึงเป็นสาเหตุให้เหล่าผู้เชียวชาญไม่เจอก้อนหินในอุจจาระของไทรเซอราท็อป


โรเบิร์ต ที. แบคเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญไดโนเสาร์


16. อันนี้ฮา! บท ดร.อลัน แกรนต์ ที่รับบทโดย แซม นีล นั้นอ้างอิงมาจากตัว แจ๊ค ฮอร์นเนอร์ ผู้เชี่ยวชาญไดโนเสาร์ตัวจริง ที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของทีมงานในการถ่ายทำด้วย ส่วนบทของ ดร.โรเบิร์ต เบิร์ค นั้นก็อ้างอิงมาจากโรเบิร์ต แบคเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญไดโนเสาร์อีกท่านหนึ่งที่เป็นคู่อริทางวิชาชีพกับ แจ๊ค ฮอร์นเนอร์ เพราะทั้งคู่ต่างมีทฤษฎีที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับลักษณะนิสัยการกินของที-เร็กซ์ , แจ๊ค ฮอร์นเนอร์ เชื่อว่าที-เร็กซ์ เป็นสัตว์ที่กินซากสัตว์อื่นเป็นอาหาร ส่วนแบคเกอร์เห็นแย้งว่า ที-เร็กซ์ เป็นสัตว์ที่ล่าสัตว์อื่นเป็นอาหาร ด้วยความที่ไม่ชอบตัว แบคเกอร์ เป็นทุนเดิม แจ๊ค ฮอร์นเนอร์ เลยขอให้ทีมงานเขียนให้ โรเบิร์ต เบิร์ค ตัวแทนในเรื่องของแบคเกอร์นั้นโดนที-เร็กซ์ กิน ซึ่งหนังก็ออกมาเป็นเช่นนั้น แต่กลายเป็นว่า โรเบิร์ต แบคเกอร์ รู้สึกพึงพอใจว่าเป็นชัยชนะของเขา เขาเขียนจดหมายถึง แจ๊ค ฮอร์นเนอร์ว่า "เห็นมั้ยล่ะ ผมบอกแล้วที-เร็กซ์ ล่าสัตว์อื่นเป็นอาหาร"



17. แม้สตีเวน สปิลเบิร์ก จะไม่ได้เข้ามากำกับหรือเขียนบทไตรภาคใหม่Jurassic World แต่ว่าไอเดียเริ่มต้นก็ยังคงมาจากมันสมองของสตีเวน สปิลเบิร์ก อยู่ดี ,สปิลเบิร์ก และ มาร์ค โปรโตเซวิช ผู้ร่วมเขียนบทก็นัดเจอกันเป็นส่วนตัวหลายครั้ง เพื่อปรึกษาไอเดียเริ่มต้นสำหรับไตรภาคใหม่ ที่ออกมาเป็น Jurassic World นี้



18. ฉากนี้มีนัยยะ บทเฮลิคอปเตอร์ที่มีเหล่าผู้เชี่ยวชาญทั้ง อลัน แกรนต์ , เอลลี่ , เอียน มัลคอล์ม และ จอห์น แฮมมอนด์ โดยสารไปด้วยกันนั้น ทุกคนต่างก็คาดเข็มขัดนิรภัยกันอย่างง่ายดาย ฝั่งหนึ่งที่มีสลักเปรียบเป็นตัวผู้ อีกฝรั่งที่มีตัวรับเปรียบเป็นตัวเมีย มีเพียง ดร.อลัน แกรนต์ ที่มีปัญหากับการคาดเข็มขัดนิรภัย และสุดท้ายก็เอาสายเข็มขัดผูกกันแทนที่จะเสียบสลัก ฉากนี้เหมือนกับการสื่อนัยยะในฉากท้ายของเรื่อง ที่สุดท้ายแม้ว่าไดโนเสาร์บนเกาะนี้จะมีแต่ตัวเมีย แต่มันก็สามารถแพร่พันธุ์กันได้ออยู่ดี ตีความต่อกันเองนะ



19. ทฤษฎีคืนชีพไดโนเสาร์ อาจจะเป็นจริงแล้วนะ ในปี 2005 ดร.แมรี่ ชไวทต์เซอร์ ผู้เชี่ยวชาญไดโนเสาร์ค้นพบเซลล์เม็ดเลือดแดงและเนื้อเยื่อบางของที-เร็กซ์ ในฟอสซิล ซึ่งอาจจะส่งผลดีในการค้นคว้าการโคลนนิ่งไดโนเสาร์ได้จริงในอนาคต



20. การที่ Jurassic Park (1993) ภาคแรกประสบความสำเร็จอย่างสวยงาม อาจจะเพราะมีภาพไดโนเสาร์ให้เห็นบนจอเพียง 15 นาทีเท่านั้น ซึ่งทำให้คนดูกระหายที่จะได้เห็นตัวไดโนเสาร์ ที่ไม่ได้โผล่มามากเกินไปจนทำให้คนดูชาชิน แบบหุ่นยนต์ตีกันในหนังไมเคิล เบย์ และ 15 นาทีนั้น 9 นาทีเป็นภาพจากหุ่นอนิเมทรอนิคส์ ฝีมือของปรมาจารย์ แสตน วินสตัน และ 6 นาทีเป็นภาพสเปเชียลเอ็ฟเฟคต์ฝีมือของ ILM



21. The Lost World: Jurassic Park (1997) ก็คารวะหนัง King Kong (1933) เรือที่บรรทุกไดโนเสาร์มาขึ้นฝั่งชื่อว่า เดอะ เวนเจอร์ เป็นชื่อเดียวกับเรือที่ขนตัวคิงคองมาขึ้นฝั่งในหนังคิงคองเวอร์ชั่นต้นฉบับ



22. ทีมงานให้ความสำคัญกับข้อมูลจริง ในช่วงที่ถ่ายทำ Jurassic Park III (2001) ผู้เชี่ยวชาญไดโนเสาร์เพิ่งค้นพบข้อมูลเพิ่มเติมว่า แรปเตอร์นั้นมีขนแบบเดียวกับนก โดยเฉพาะแรปเตอร์ตัวผู้ ถ้าเราสังเกตจะเห็นได้ว่า แรปเตอร์ ใน Jurassic Park III (2001)จะมีขนเพิ่มเข้ามาโดยเฉพาะบริเวณส่วนหัว แต่จริงๆ แล้ว ขนของแรปเตอร์ในหนังก็ไม่ได้ตรงกับข้อมูลการค้นพบเท่าใดนัก เพราะแรปเตอร์ตัวจริงนั้นมีขนนกปกคลุมแทบทั้งตัว เว้นไว้เพียงแค่ส่วนปลายปากเท่านั้น ก็เข้าใจทีมงานนะ ถ้าอยู่ดีๆ แรปเตอร์จะเปลี่ยนไปอยู่ดีๆ มีขนนกทั้งตัว ก็คงอธิบายคนดูลำบากนะ



23. ภาพลักษณ์ของไดโลโฟเซารัสจากหนัง ถูกยึดถือแพร่หลายว่าเป็นภาพลักษณ์จริง เจ้าไดโนเสาร์ตัวเล็กแต่พิษสงร้ายจาก Jurassic Park (1993) ที่มีความสามารถพ่นพิษได้นั้น เป็นไอเดียจากไมเคิล ไครช์ตัน ผู้ประพันธ์ ส่วนแผงคอนั้นเป็นไอเดียของสตีเวน สปิลเบิร์ก ซึ่งไดโลโฟเซารัสตัวจริงนั้นไม่ได้มีความสามารถแบบนี้เลย แต่ภาพลักษณ์ของไดโลโฟเซารัสที่มีแผงคอนั้น ก็ถูกสื่อแพร่หลายออกไปทางหลายๆ สื่อจนเชื่อกันไปแล้วว่าไดโลโฟเซารัสตัวจริงหน้าตาเป็นแบบนี้



24. หลังจบไตรภาคแรก ผู้เชี่ยวชาญไดโนเสาร์ค้นพบว่า เวโลซิแรปเตอร์นั้นเป็นไดโนเสาร์ที่ปกคลุมไปด้วยขน ซึ่งบังเอิญไปตรงกับข้อสันนิษฐานของ ดร.อลัน แกรนต์ในหนังที่บอกไว้ว่าเวโลซิแรปเตอร์นั้นจะวิวัฒนาการจนกลายเป็นนกในปัจจุบัน พอมาถึงไตรภาคหลัง บทหนังก็เลยยึดถือหลักการนี้มาขยายต่อ



25. วันที่ Jurassic Park (1993) ออกฉาย หนังสร้างสถิติใหม่ในวงการหนังฮอลลีวู้ด ด้วยการทำรายได้ในสหรัฐไปสูงถึง 357 ล้านเหรียญ ทำลายสถิติเดิมที่ E.T.(1982) ของสตีเวน สปิลเบิร์ก เองได้ทำไว้ แต่ Jurassic Park (1993) ก็ครองตำแหน่งแชมป์อยู่ได้เพียง 4 ปีจนถูก Titanic (1997) ทำลายสถิติ



26. ทั้ง Jurassic Park และ The Lost World สามารถปิดกล้องได้เร็วกว่ากำหนดการที่วางไว้ หนังปิดกล้องได้ใน 69 วัน จากแผนการที่วางไว้ว่า 74 วัน นี่คือการทำงานของผู้กำกับระดับแนวหน้าของฮอลลีวู้ดตัวจริง



27. คริส แพรตต์ เป็นดาราคนเดียวที่ถูกจำลองภาพลักษณ์ออกมาเป็นของเล่นเลโก้ถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกจากหนัง The LEGO Movie (2014) และครั้งที่ 2 จาก Guardians of the Galaxy (2014) ส่วนครั้งที่ 3 จาก Jurassic World (2015)

28. บทถ่ายทำดั้งเดิมของ The Lost World: Jurassic Park (1997) เขียนไว้ว่า แรปเตอร์ ได้หลุดขึ้นไปบนเรือ เดอะ เวนเจอร์ด้วย และเป็นเหตุให้ ที-เร็กซ์ หลุดออกมาฆ่าคนบนเรือหมด และมีหลายรายที่กลายเป็นศพแม้อยู่ในพื้นที่ที่ ที-เร็กซ์ เข้าไปไม่ถึง ซึ่งนั้นก็เป็นฝีมือของแรปเตอร์ แต่สุดท้ายฉากนี้ก็ไม่ได้ถูกถ่ายทำ



29. หลายๆ ฉากแอ็คชั่นใน Jurassic Park III (2001) คือไอเดียตกค้างมาจาก 2 ภาคแรก เป็นหลาย ๆ ฉากที่ไปได้จนถึงขั้นตอนเขียนสตอรี่บอร์ดแล้วใน Jurassic Park (1993) และ The Lost World: Jurassic Park (1997) แต่ก็ถูกตัดทิ้งเหตุด้วยงบประมาณและเวลาที่ไม่เพียงพอ พอมาถึง Jurassic Park III (2001) ก็เลยหยิบฉากเหล่านั้นมาสานต่อ อย่างเช่นฉาก เทราโนดอน โจมตี และฉากล่องเรือ



30. โจเซฟ มาเซลโล เป็นนักแสดงเด็กที่ไปแคสติ้งบท แจ็ค แบนนิ่ง ใน Hook (1991) แต่ก็พลาดบทไปเพราะวัยเด็กกว่าบทมาก แต่สตีเวน สปิลเบิร์ก ก็ประทับใจในตัวเขา และสัญญากับโจเซฟ ไว้ว่า จะต้องได้ร่วมงานกันในโปรเจ็กต์ต่อไป นั่นก็คือ Jurassic Park (1993) เพื่อรักษาสัญญา สปิลเบิร์กถึงกับแก้ไขบท "ทิม" จากต้นฉบับในนิยายว่าเป็นเด็กหนุ่มผู้เชี่ยวชาญคอมพิวเตอร์ให้อายุน้อยลงกว่าเดิม เพื่อให้ตรงกับวัยของโจเซฟ มาเซลโล



31. Jurassic Park (1993) คือแหล่งรวมยอดฝีมือแถวหน้าของฮอลลีวู้ด เพื่อตั้งใจสร้างสรรค์ไดโนเสาร์ให้สมจริงบนจอภาพยนตร์ สตีเวน สปิลเบิร์ก จ้าง แสตน วินสตัน ที่เพิ่งโด่งดังมาจากหนัง Aliens มาสร้างหุ่นอนิเมทรอนิคส์ไดโนเสาร์ในขนาดเท่าจริง ทั้งตัวที-เร็กซ์ และ ไทรเซอราท็อป , และใช้ ฟิล ทิปเป็ต ผุ้เชี่ยวชาญเทคนิค สต็อป-โมชั่น มาร่างแบบการเคลื่อนไหวของไดโนเสาร์ เพื่อเอาภาพจริงมาซ้อนทับในขั้นตอนหลังการถ่ายทำ และสุดท้ายคือเดนนิส มูเร็น ที่สร้างชื่อเสียงมาจากการสร้าง T-1000 หุ่นยนต์เหล็กหลอมเหลวใน Terminator 2 มาควบคุมการสร้างภาพซีจีไดโนเสาร์ และภาพไดโนเสาร์ฝีมือของเดนนิส มูเร็น ต้องถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่านี่คือภาพเนื้อและหนังของสิ่งมีชีวิตที่ถูกสร้างขึ้นด้วยเทคนิคซีจีครั้งแรกบนโลก แม้เป็นครั้งแรกแต่ภาพที่ปรากฏออกมาก็สมจริงอย่างมาก



32. ยูนิเวอร์แซล มั่นใจว่าหนังจะต้องออกมาเยี่ยมยอดถึงขนาดจ่ายเงินซื้อบทประพันธ์จากไมเคิล ไครช์ตัน ด้วยตัวเลข 2 ล้านเหรียญ ตั้งแต่นิยายยังไม่ถูกตีพิมพ์ และเป็นมูลค่าที่สูงลิบลิ่วในยุคนั้น ตัวสตีเวน สปิลเบิร์ก เองก็มั่นใจกับทีมงานอย่างมาก เมื่อถ่ายทำเสร็จเขาก็ส่งไม้ต่อให้กับจอร์จ ลูคัส รับหน้าที่ดูแลขั้นตอนทำซีจีหลังการถ่ายทำ เพราะมั่นใจว่าขั้นตอนนี้ไม่ต้องพึ่งความเห็นจากเขาอีกแล้ว ส่วนตัวเขาก็ไปถ่ายทำ Schindler's List ต่อ



33. แม้ว่ากองถ่าย Jurassic Park (1993) จะประสบพายุเฮอร์ริเคนระหว่างการถ่ายทำ แต่หนังก็ยังปิดกล้องได้ก่อนกำหนด และใช้งบประมาณไปเพียง 63 ล้านเหรียญในการถ่ายทำ และ 65 ล้านในขั้นตอนทำการตลาด ซึ่งนับว่าต่ำมากสำหรับหนังระดับบล็อคบัสเตอร์ และในระหว่างที่หนังถ่ายทำอยู่นั้น ทางยูนิเวอร์แซลก็เริ่มต้นสร้างสวนสนุก Jurassic Park: The Ride ที่ยูนิเวอร์แซล สตูดิโอไปพร้อมกันด้วย ซึ่งเปิดบริการไปเมื่อปี 1996 และใช้งบประมาณไปถึง 110 ล้าน ซึ่งมากกว่าทุนสร้างหนังอีกเท่าตัวนึง



34. แจ๊ค ฮอร์นเนอร์ ผู้เชี่ยวชาญไดโนเสาร์ตัวจริง ผู้เป็นตัวต้นแบบให้ไมเคิล ไครช์ตันนำไปพัฒนาเป็นตัวละคร ดร.อลัน แกรนต์ พระเอกของเรื่อง , แจ๊ค ฮอร์นเนอร์ ยังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับกองถ่าย Jurassic Park ทั้ง 3 ภาค ทีมงานตั้งใจถ่ายทอดภาพลักษณ์หลายๆ อย่างของแจ๊ค ฮอร์นเนอร์ออกมาบนแผ่นฟิล์ม แม้กระทั่งรถของ ดร.อลัน แกรนต์ ที่มีโลโก้ของมหาวิทยาลัยมอนตานา แปะอยู่บนตัวรถนั่นก็กีอปมาจากรถจริงของแจ๊ค ฮอร์นเนอร์ ด้วย



35. แค่หนังภาคแรก Jurassic Park (1993) ก็ทำเงินให้สตีเวน สปิลเบิร์ก ได้มากถึง 250 ล้านเหรียญ จากส่วนแบ่งกำไรที่หนังทำได้ และรวมไปถึงสินค้าต่าง ๆ ที่สืบเนื่องจากตัวหนัง ทั้ง เสื้อยืด , กระติกน้ำ , กล่องข้าว , หุ่นไดโนเสาร์ และทุกอย่างที่ปรากฏบนหนังล้วนวางแผนไว้ล่วงหน้าว่าจะถูกผลิตเป็นสินค้าออกจำหน่ายในภายหลัง ซึ่งล้วนแล้วประสบความสำเร็จอย่างสูง ตัวเลข 250 ล้านนับเป็นรายได้ที่จ่ายให้กับบุคคลเดียวมากที่สุดจากหนังเรื่องเดียวในยุคนั้น



36. หลายๆ ฉากใน The Lost World: Jurassic Park (1997) ล้วนดึงมาจากนิยาย Jurassic Park ภาคแรก อย่างเช่นฉากเจ้าตัวเล็ก คอมป์ซอกนาทัส โจมตีเด็กผู้หญิง , เหล่ามนุษย์หนี ที-เร็กซ์ ไปซ่อนหลังน้ำตก แล้วที-เร็กซ์ ก็แหย่ลิ้นไปเลียมนุษย์ , ดีเตอร์ สตาร์ค ถูกคอมป์ซอกนาทัส ฆ่าตาย แต่ในนิยายเป็น จอห์น แฮมมอนด์ ที่ถูกฆ่า



37. ออสการ์ 1994 เป็นปีทองของ สตีเวน สปิลเบิร์ก เพราะตัวเขาคว้าออสการ์รางวัล ผู้กำกับยอดเยี่ยมจาก Schindler's List และหนังยังคว้าภาพยนตร์ยอดเยี่ยม , ตัดต่อยอดเยี่ยม และดนตรีประกอบยอดเยี่ยม ในขณะที่ Jurassic Park ก็คว้ารางวัล เทคนิคพิเศษทางด้านภาพยอดเยี่ยม จากทั้ง 3 ยอดฝีมือ แสตน วินสตัน , ฟิล ทิปเป็ต , เดนนิส มูเร็น และยังได้รางวัล ตัดต่อเสียงยอดเยี่ยม และ ผสมเสียงยอดเยี่ยม อีกด้วย



38. ฉากหนึ่งใน Jurassic Park III (2001) ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อล้อเลียนแฟนหนัง ในฉากที่ สไปโนซอรัส โจมตีเครื่องบิน ดร.อลัน แกรนต์ ถาม บิลลี่ เบรนแนน ผู้ช่วยของเขาว่า รู้มั้ยว่าตัวที่โจมตีเรานี่คือพันธุ์อะไร บิลลี่ ก็ตอบด้วยความลังเลว่าน่าจะเป็น "ซูโคไมมัส" หรือไม่ก็ "แบรีออนิกซ์" สังเกตได้จากจงอยปากของมัน ข้อสันนิษฐานของบิลลี่นี้ ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อหยอกล้อแฟนหนัง หลังจากที่ทีมงานปล่อย โลโก้ของ Jurassic Park III ออกมา แฟนๆ ก็ถกเถียงกันว่าเจ้าโครงกระดูกบนโลโก้นี่คือไดโนเสาร์พันธุ์อะไร ข้อถกเถียงส่วนใหญ่บนเว็บไซต์ทางการของหนัง และเว็บไซต์แฟนเพจ ต่างก็คาดคะเนกันว่าเป็น"ซูโคไมมัส" หรือ "แบรีออนิกซ์" ตามบทที่เขียนให้บิลลี่พูด


ฟิล ทิปเป็ต ผู้เชี่ยวชาญเทคนิค สต็อป-โมชั่น


39. ไอเดียแรกของสตีเวน สปิลเบิร์ก ในการสร้างไดโนเสาร์ คือเทคนิคหุ่นปั้นแล้วถ่ายทำด้วยเทคนิค สต็อป-โมชั่น ภายใต้การควบคุมของฟิล ทิปเป็ต แต่เมื่อเดนนิส มูเร็น เข้ามาแล้วโชว์ภาพไดโนเสาร์ที่สร้างด้วยภาพซีจีที่สมจริงมาก วิธีการสต็อป-โมชั่นของฟิล ทิปเป็ต ก็ถูกยกเลิกไป แต่ความรู้ความสามารถก็ก็ไม่ได้ไร้ประโยชน์ไปเสียทีเดียว ฟิล มีความรู้เรื่องไดโนเสาร์ดี และรู้เรื่องสรีระการเคลื่อนไหวร่างกายของพวกมัน เทคนิคสต็อป-โมชั่นของเขาจึงเป็นประโยชน์อย่างมากกับทีมซีจี หุ่นปั้นไดโนเสาร์ของเขาจึงถูกใช้เป็นต้นแบบในการเคลื่อนไหวด้วยการติดเซนเซอร์ต่อเชื่อมเข้ากับคอมพิวเตอร์ซีจี แล้วไดโนเสาร์ซีจีบนคอมพิวเตอร์ก็เคลื่อนไหวได้สมจริงตามการควบคุมของฟิล


สตีเวน สปิลเบิร์ก และ เซอร์ริชาร์ด แอทเทนโบโรห์ ผู้รับบท จอห์น แฮมมอนด์


40. ไมเคิล ไครช์ตัน ผู้ประพันธ์ เคยบอกว่าเขาได้ใส่บุคลิกลักษณะตัวเองลงไปในตัว เอียน มัลคอล์ม นักพันธุวิศวกรรม ในขณะที่สตีเวน สปิลเบิร์ก ก็บอกว่าบท จอห์น แฮมมอนด์ ก็สะท้อนความเป็นตัวตนของเขาเช่นกัน


เดวิด โคเอ็ปป์ ผู้เขียนบท The Lost World: Jurassic Park (1997) แอบมาเล่นในหนังด้วย


41. เดวิด โคเอ็ปป์ ผู้เขียนบท Jurassic Park (1993) ถือว่าเป็นคนทำงานที่ค่อนข้างใส่ใจเสียงตอบรับจากบรรดาแฟนหนัง เขาอ่านจดหมายติชมจากแฟนหนัง ที่บ่นว่าในหนังภาคแรกพวกเขารอนานมากกว่าจะได้เห็นภาพไดโนเสาร์ปรากฏบนจอหนัง และเดวิด ก็นำข้อติชมนี้มาแก้ไขในบทของ The Lost World: Jurassic Park (1997)



42. วินซ์ วอห์น ได้บทนำใน The Lost World: Jurassic Park (1997) เหตุเพราะ วินซ์ ติดต่อ สตีเวน สปิลเบิร์ก เพื่อขอสิทธิ์ในการใช้เพลงธีมจากหนัง Jaws มาใส่ในฉากปาร์ตี้ในหนัง Swingers (1996) ของเขา เป็นจุดเริ่มต้นให้สปิลเบิร์ก เริ่มสนใจในตัววินซ์ วอห์น และได้ร่วมงานกัน



43. จิม แครีย์ เป็นตัวเลือกแรกๆ ที่จะได้มารับบท เอียน มัลคอล์ม แต่สุดท้ายก็ตกเป็นของ เจฟฟ์ โกลด์บลัม หนังจะออกมาเป็นอย่างไรนะ ถ้ามีจิม แครีย์ เนี่ย



44. บท ซารา ฮาร์ดิง ของ จูเลียน มัวร์ ใน The Lost World: Jurassic Park (1997) ถูกดัดแปลงไปมากจากนิยาย เพราะในนิยายนั้น ซารา ฮาร์ดิง เป็นผู้เชี่ยวชาญพฤติกรรมสัตว์ ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญไดโนเสาร์ อย่างที่ปรากฏในหนัง และในบทดั้งเดิม ทีมของ เอียน มัลคอล์ม ที่เดินทางไป อิสลา ซอร์นา นั้นมีสมาชิกคนที่ 5 คือ ดร.จัตสัน ดัดแปลงมาจากตัว ริชาร์ด เลวิน ในนิยาย แต่ก็ถูกหั่นทิ้งในขั้นตอนถ่ายทำ เหตุเพราะว่าตัวละครมากเกินไป บทพูดของ ดร.จัตสัน เลยถูกยกมาเพิ่มให้เป็นบทพูดของ ซารา ฮาร์ดิง แทน



45. ไมเคิล เกียคคิโน ผู้ประพันธ์ดนตรีประกอบใน Jurassic World (2015) เขาได้งานนี้เหตุเพราะก่อนหน้านี้ เขาได้งานประพันธ์ดนตรีประกอบสำหรับเกมเพลย์สเตชั่น The Lost World: Jurassic Park



46. เซอร์ริชาร์ด แอทเธนโบโรห์ เป็นนักแสดงกิติมศักดิ์ผู้น่าจดจำใน Jurassic Park (1993) เพราะอดีตเขาคือนักแสดงมากฝีมือในฮอลลีวู้ด แล้วเซอร์ริชาร์ดก็หยุดงานแสดงในปี 1979 แล้วหันมาเอาดีทางด้านงานกำกับ ผลงานกำกับของเขาก็ขึ้นแท่นหนังคลาสสิกทั้ง Gandhi (1982) และ Chaplin (1992) การดึงตัวเซอร์ริชาร์ด ให้กลับมารับงานแสดงอีกครั้งได้ ถือว่าเป็นเซอร์ไพรส์ครั้งใหญ่ เพราะการมารับบท จอห์น แฮมมอนด์ ครั้งนี้เป็นการกลับมาแสดงหนังครั้งแรกในรอบ 14 ปีของเซอร์ริชาร์ด ในวัย 69 ปี ที่น่าขันก็คือ การที่สตีเวน สปิลเบิร์ก ได้มากำกับบทบาทการแสดงให้กับเซอร์ริชาร์ด แอทเธนโบโรห์นี้ ซึ่งครั้งหนึ่งเซอร์ริชาร์ด ก็เคยเอาชนะสตีเวน สปิลเบิร์ก มาแล้วบนเวทีออสการ์ ในปี 1983 เมื่อหนัง Gandhi ของเขาได้รางวัลออสการ์ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ในขณะที่ E.T. ของสตีเวน สปิลเบิร์ก พลาดไป


ผู้กำกับ โจ จอห์นสตัน และ สตีเวน สปิลเบิร์ก ในกองถ่าย Jurassic Park III


47. โจ จอห์นสตัน ผู้กำกับ Jurassic Park III (2001) เคยถูกวางตัวไว้ให้กำกับตั้งแต่ภาค 2 The Lost World: Jurassic Park (1997) แล้ว แต่ติดที่ว่าตารางงานไม่ลงตัว เพราะเขาอยู่ในช่วงขั้นตอนหลังการถ่ายทำ Jumanji (1995) สตีเวน สปิลเบิร์ก ที่พักยาวมาหลายปี หลังจาก Jurassic Park (1993) และ Schindler's List (1993) ก็เลยมาสานต่อหน้าที่ผู้กำกับด้วยตัวเอง แต่ก็สัญญากับ โจ จอห์นสตัน ไว้ว่าโจจะได้กำกับหนังภาค 3 แน่นอน


ไมเคิล ไครช์ตัน และ สตีเวน สปิลเบิร์ก


48. ที่จริงแล้ว สตีเวน สปิลเบิร์ก ไม่ใช่ตัวเลือกแรกๆ ที่จะได้มากำกับ Jurassic Park (1993) แต่ยังมีคู่แข่งเบอร์ใหญ่ๆ ทั้ง ทิม เบอร์ตัน , เจมส์ คาเมรอน , ริชาร์ด ดอนเนอร์ และ โจ ดังเต้ เพียงแต่ว่าเจ้าของบทประพันธ์อยู่ในระหว่างร่วมงานกับสตีเวน สปิลเบิร์ก ในทีวีซีรีส์ ER ที่เป็นอีกหนึ่งผลงานของไมเคิล ไครช์ตัน เขาก็เลยเชียร์ให้สปิลเบิร์กได้กำกับ Jurassic Park (1993)


เหล่านักแสดงซีรีส์ ER


49. ที่จริงแล้ว สตีเวน สปิลเบิร์ก กำลังอยู่ในช่วงดัดแปลงนิยาย ER ของไมเคิล ไครช์ตัน ให้กลายเป็นภาพยนตร์ แต่แล้วเมื่อไครช์ตันออกนิยายเรื่องที่ 2 Jurassic Park ออกมา สปิลเบิร์ก ก็เลยพับโครงการหนัง ER แล้วหันมาทำ Jurassic Park แทน แต่เมื่อ Jurassic Park ปิดกล้อง สปิลเบิร์ก ก็กลับไปช่วยพัฒนาโคงการ ER ต่อ แล้วสุดท้ายก็ออกมาเป็นซีรีส์ฮิต สปิลเบิร์กช่วยดูแลการผลิตตอนเปิดของซีรีส์ความยาว 2 ชั่วโมง มีนักแสดงหลายคนจาก Jurassic Park ได้ไปแสดงต่อใน ER ด้วย



50. Jurassic Park 4 ดีแล้วที่ไม่ได้สร้าง แม้จะมีการเขียนบทไปบ้างแล้ว ในภาคนี้ใช้ชื่อว่า Jurassic Park: Extinction มีการกำเนิดไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ เป็นการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างมนุษย์กับไดโนเสาร์   แต่สุดท้ายโปรเจ็กต์ก็ถูกยกเลิก และถือกำเนิดใหม่อีกครั้งในหลายปีถัดมาในชื่อ Jurassic World