เผยทฤษฎีเกี่ยวกับการย้อนเวลาสู่ความโรแมนติกปนฮาใน Time Freak
"Time Freak" สร้างจากภาพยนตร์เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์สั้นยอดเยี่ยม เกี่ยวกับหนุ่มสายฟิสิกซ์สุดปราดเปรื่อง สติลล์แมน (เอซา บัตเตอร์ฟิลด์) ที่อยู่ดีๆ ก็ถูกเด็บบี้ (โซฟี เทอร์เนอร์) แฟนสาวที่เขารักมาก บอกเลิกไปอย่างไม่คาดคิด แต่เขายังไม่ยอมแพ้ เขาทำในสิ่งที่นักฟิสิกซ์อกหักทุกคนต้องทำ นั่นก็คือ การสร้างไทม์แมชชีน เพื่อพิชิตใจเธออีกครั้ง
มีทฤษฎีมากมายเกี่ยวกับการย้อนเวลา แต่ผู้กำกับ แอนดรูว์ โบว์เลอร์ เลือกการย้อนเวลาในลักษณะแบบว่าไม่ว่าเราจะย้อนไปช่วงเวลาไหน เราก็ยังเป็นตัวของตัวเองอยู่ในอดีต ไม่ใช่ว่าเราย้อนไปแล้วจะต้องมาคอยระวังจะไปเจอกับตัวเองในอดีต "ผมไม่ชอบความวุ่นวายเลย หนังย้อนเวลาของผมไม่ใช่การย้อนไปแล้วจะต้องไปเจอเรื่องปวดหัว ไม่ใช่! ผมอยากให้ตัวละครของผมโฟกัสไปที่การพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเอง หรือ การพยายามเป็นตัวเองที่ดีกว่า เพื่อที่ไม่ให้เสียคนที่รักไป และแน่นอนมันเป็นการผจญภัย ที่มาพร้อมกับความสนุกแบบสุดเหวี่ยง"
ความสนุกของหนังเรื่องนี้มันมาจากการที่เราเห็นว่าพวกเขามีโอกาสนับครั้งไม่ถ้วน เพื่อที่จะแก้ไข คือคาแรกเตอร์แบบสติลล์แมน นี่เป็นพวกสติเฟื่องซึ่งเขามีความแสบและเป็นตัวของตัวเองมากเสียเหลือเกิน ทำให้หลายครั้ง ไม่ว่าจะย้อนไปมากี่ครั้ง มันก็ทำให้เราหัวเราะไม่ยาก “ผมชอบคาแรกเตอร์เพื่อนพระเอกมาก นี่คือพระเอกตัวจริงของผมเลย” ผู้ควบคุมงานสร้าง เรย์มอนด์ แมนส์ฟิลด์ กล่าว "เอแวน เป็นคนที่คอยซัพพอร์ทเพื่อนของเขา เขาไม่ใช่คนฉลาดแบบสกายเลอร์ และบ่อยครั้งจะทำตัวเซ่อจนทำให้สติลล์แมน ต้องย้อนเวลากลับโดยไม่จำเป็น เขาเป็นตัวเรียกเสียงตลกที่ได้ผลมาก มันดึงความเลี่ยนของความรัก ให้คงมาตรฐานของหนังไว้ให้สนุกได้อย่างต่อเนื่อง"
การเซ็ทฉากเครื่องย้อนเวลาเป็นอะไรที่ทีมงานทุ่มเท และ ใช้เวลากับมันมากเช่นกัน ทั้งแอนดรูว์และ เรย์มอนด์ มีความเห็นตรงกันที่พวกเขาอยากทำให้คนดูเชื่อ และ มองเห็นว่าเครื่องย้อนเวลาแบบนี้มันมีได้จริงๆ มันจะไม่ใช่การที่เขาผลิตเครื่องสุญญากาศอลูมิเนียมแย่ๆ แล้วจะมาใส่ควันเยอะๆ ให้มันดูอลังการคงไม่ได้ พวกเขาจำเป็นที่จะต้องหาคนที่สามารถจัดการในส่วนนี้ได้
พวกเขาจึงเลือกที่จะไปใช้งาน ไบรอัน ไลฟ์ ผู้ที่มีผลงานล่าสุดกับการจัดฉากในภาพยนตร์เรื่อง Hereditary โดย เรย์มอนด์ กล่าวว่า "ผมรู้ว่าเขาเคยทำงานหนังสยองขวัญมา แต่เขามีไอเดียที่ดีมากในการสร้างไทม์แมชชีนในแบบฉบับหนังของเรา"
ไลฟ์ ได้อ่านบทหนังเรื่องนี้อย่างละเอียด เขารู้ว่าพื้นที่แลป ที่จะกลายมาเป็นไทม์แมชชีนนั้น มันคือ โรงรถ ดีๆ นี่เอง แต่มันต้องไม่ใช่โรงรถธรรมดา มันคือโรงรถของเด็กเนิร์ด เด็กสติเฟื่อง มันต้องเต็มไปด้วยสิ่งของสุดล้ำ การดีไซน์เครื่องไทม์แมชชีนจึงต้องสอดคล้องกับความล้ำนั้น พวกเขาตัดสินใจที่จะไปเนรมิตแลปนี้ที่ห้องสตูดิโอขนาดใหญ่ วัสดุอุปกรณ์ที่มีสีฟ้าอ่อนๆ มีเส้นโค้ง ไฟนีออน และลำโพง! เมื่อแอนดรูว์ถามเขาว่าทำไมต้องลำโพง ไลฟ์ตอบว่า "มันเข้ากันดีกับฉากใช่มั้ยล่ะ คุณลองปรับบทการย้อนเวลาที่เสียงคือตัวแปรของการย้อนเวลาดูมั้ยล่ะ" แอนดรูว์เชื่อในคำพูดของไลฟ์ เหตุผลหลักๆ คือ เพราะห้องแลปแห่งนี้มันดูดีมากเกินกว่าที่จะไปปฏิเสธลงได้"
งานนี้ไม่ว่าคุณจะเป็นคนที่ไม่เคยอกหักรักคุด หรือคนที่ผ่านความช้ำชอกมาแล้วกี่ครั้งก็ตาม เรื่อง "ไทม์ฟรีค" (Time Freak) เรื่องนี้จะพาคุณร่วมเดินทางย้อนเวลาแล้วย้อนเวลาอีกไปกับเขา 5 ธันวาคมนี้ในโรงภาพยนตร์เอส เอฟ
ตัวอย่างภาพยนตร์