Long Day's Journey into Night
"Long Day's Journey into Night" ผลงานการกำกับของคนทำหนังหนุ่มวัย 29 ปี "ปี่กัน" (Bi Gan) คือภาพยนตร์อาร์ตเฮาส์จีนที่โดดเด่นมากๆ เรื่องหนึ่งในระดับนานาชาติเมื่อปีที่ผ่านมา หนังได้เข้าประกวดในสาย Un Certain Regard ของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ และคว้ารางวัลด้านโปรดักชั่นสำคัญๆ บนเวที "ม้าทองคำ" ของไต้หวัน ได้แก่ กำกับภาพยอดเยี่ยม, ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม และออกแบบเสียงยอดเยี่ยม เมื่อเปิดตัวที่จีนแผ่นดินใหญ่ในค่ำวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ.2018 หรือคืนส่งท้ายปีเก่า หนังเรื่องนี้ยังสามารถทำรายได้อย่างงดงาม เพราะเพียงแค่คืนเดียวก็โกยเงินไปถึง 38 ล้านเหรียญสหรัฐ (กว่า 1 พันล้านบาท)! ไคลแม็กซ์ซึ่งผลักดันให้ "Long Day's Journey into Night" ลอยล่องไปสู่ครึ่งหลังอันน่าตื่นตาตื่นใจ ก็คือการคล้อยเคลื่อนดำดิ่งลงใน "โลกแห่งภาพยนตร์สามมิติ" พร้อมๆ กันของตัวละครนำและผู้ชม ประเด็นหนึ่งที่ชวนคิดคือ ก่อนหน้านั้น พระเอกได้พูดเปรียบเทียบข้อแตกต่างระหว่าง "หนัง" กับ "ความทรงจำ" เอาไว้ว่า ในขณะที่ "ความทรงจำ" มีทั้งเรื่องจริงและไม่จริงปนเปกันไป แต่ทุกอย่างในหนังคือสิ่งไม่จริง นอกจากนี้ เรื่องราวของหนังใน "ภาคสามมิติ" ก็เป็นเหมือน "ภวังค์ฝัน" ซึ่งขับเคลื่อนผ่านระลอกของเหตุการณ์ "เหนือจริง" ห้วงแล้วห้วงเล่าอย่างไรก็ดี น่าตลกร้ายว่า "ความไม่จริง" และ "ความฝัน" ทั้งหมดทั้งมวลดังกล่าว กลับถูกนำเสนอด้วย "ภาพสามมิติ" ซึ่งแลดู "สมจริง" ยิ่งกว่า "หนังสองมิติ" แบบเดิมๆ จุดเด่นพิเศษอีกประการหนึ่งของ "พาร์ตสามมิติ" ใน "Long Day's Journey into Night" คือการสาธิตแสดงให้เห็นถึงวิธีฉายภาพหรือเล่าเรื่องราวว่าด้วย "ความทรงจำ-อดีต" ที่เปลี่ยนแปลงไปเดิมทีมนุษย์อาจมีกลวิธีบางอย่างในการถ่ายทอดลักษณะนามธรรมทั้งหลายเหล่านั้นผ่านสื่อชนิดเดิม เช่น หนังสือนิยายหรือภาพเคลื่อนไหวสองมิติอย่างไรก็ตาม พวกเราไม่มีทาง (แม้แต่เพียงแค่คิด) ที่จะพูดถึงความลี้ลับพิศวงของ "ความทรงจำ-อดีต" ผ่านเทคโนโลยี 3D