แนะนำ "ของขวัญ" ภาพยนตร์เทิดพระเกียรติ 4 เรื่องสั้น จาก 4 สุดยอดผู้กำกับ
"ของขวัญ" ภาพยนตร์เทิดพระเกียรติ ผลงานของ "สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล" บริษัทผลิตภาพยนตร์ของคนไทยที่ดำเนินธุรกิจมากว่า 40 ปี อยากมอบของขวัญชิ้นนี้ให้คนไทยได้ชมฟรีกันตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม เป็นต้นไป ภาพยนตร์ของขวัญกำกับโดย 4 ผู้กำกับแถวหน้าของเมืองไทย ปรัชญา ปิ่นแก้ว / นนทรีย์ นิมิบุตร / ก้องเกียรติ โขมศิริ และ ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล และนำแสดงโดย สุรศักดิ์ วงษ์ไทย / ม.ร.ว.มงคลชาย ยุคล /อริศรา วงษ์ชาลี / อัญชลี หัสดีวิจิตร และบุญส่ง นาคภู่
อุ๋ย นนทรีย์ นิมิบุตร 1 ในผู้กำกับและผู้อำนวยการสร้างเผยที่มาของโปรเจ็กต์นี้ว่า "คอนเซปต์ของ ของขวัญ" คือการที่เราได้รับแรงบันดาลใจจาก 'พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9' มาโดยตลอดทั้งจากในพระราชกรณียกิจและพระราชดำรัสของพระองค์ท่าน และพวกเราคนทำหนังเองก็จะมีส่วนหนึ่งที่ได้รับแรงบันดาลใจจากพระองค์ท่านเหมือนกันในการที่เราจะทำงานอย่างหนักเพื่อทำสิ่งทีดีที่สุดไว้ให้กับคนดู เรื่องนี้ก็เช่นเดียวกันที่เราทุกคนพยายามทำงานกันอย่างเต็มที่เพื่อที่จะส่งต่อแรงบันดาลใจ ส่งต่อสิ่งที่ท่านทำไว้ให้กับคนไทยทุกคนผ่านสื่อภาพยนตร์ที่เราถนัดครับ คนไทยได้รับ 'ของขวัญ' ที่ดีที่สุดที่เต็มไปด้วยความรักและความดีงามที่สร้างแรงบันดาลใจ สร้างพลังชีวิตในทุกๆ ด้าน ในทุกๆ วันมากว่า 70 ปีไม่เคยขาดจากพ่อที่พวกเรารักที่สุด วันนี้ผมอยากให้หนังสั้น 4 เรื่องนี้เป็นตัวแทนในการส่งต่อ 'ของขวัญ' ให้คนที่รักพ่อเพื่อเป็นพลังและแรงขับเคลื่อนในการมีชีวิตอยู่ของพวกเรากันต่อไป"
"ของขวัญ" เป็นหนังสั้น 4 เรื่องที่แบ่งคอนเซปต์แต่ละภาคเพื่อส่งต่อให้ถึงคนดูทั้งประเทศ
"พอเริ่มต้นโปรเจกต์นี้ ทุกคนก็เห็นด้วยกับคอนเซปต์ของการทำงาน แล้วก็มานั่งประชุมกันว่าจะแบ่งงานกันอย่างไร ใครถนัดจะทำในส่วนไหนอย่างไร ซึ่งก็ค่อนข้างจะชัดเจนในส่วนของผู้กำกับ 4 คนนี้ คุณมะเดี่ยวเป็นคนเหนือก็จะรับงานทางภาคเหนือไป คุณโขมจะถนัดงานทางภาคใต้ พี่ปรัชเป็นคนอีสานอยู่แล้วก็จะรับในฝั่งอีสานไป สุดท้ายผมก็ได้ทำงานในส่วนของภาคกลางไป"
ความยาวรวมของหนังของขวัญคือ 142 นาที แบ่งเป็นเรื่องสั้น 4 เรื่อง ราวๆ เรื่องละ 35 นาที
เรื่องแรก : The Letter
เขียนบท และ กำกับ : ปรัชญา ปิ่นแก้ว
นักแสดง : ด.ช.ฐิรพจน์ ต่วนสวัสดิ์
เรื่องราวของ The Letter : ผู้กำกับปรัชญา ปิ่นแก้ว เล่าถึงหนังของเขาว่า “ผมเล่าเรื่องของเด็กคนหนึ่งที่อยากจะเขียนจดหมายถึงพระองค์ท่าน จากจดหมายฉบับนั้นก็จะบ่งบอกถึงความรู้สึกที่เค้าอยากจะแสดงความรู้สึกบางอย่างต่อพระองค์ท่าน มันทำให้เกิดเรื่องเกิดราว ออกเป็นแนวผจญภัยเล็กๆ ในมุมของเด็ก เด็กอาจมองเป็นเรื่องเล็กสำหรับเค้า แต่ในสายตาผู้ใหญ่มันเป็นเรื่องใหญ่เหมือนกัน ตรงนี้มันทำให้หนังมันน่าจะมีความน่าสนใจตรงนี้ หนังผมจะเป็นการผจญภัยใสๆ เหมือนดูหนังดิสนีย์ แต่ว่าสิ่งที่เด็กได้รับหรือว่าความรู้สึกที่ได้รับในตอนท้ายนี่มันต้องยิ่งใหญ่ให้สมกับเรื่องราวที่เราพูดถึงพระองค์ท่าน"
เรื่องที่ 2 : ดอกไม้ในกองขยะ
กำกับภาพยนตร์ : นนทรีย์ นิมิบุตร
บทภาพยนตร์ : ภัทรา พิทักษานนท์กุล, ธีร์รัฐ วนาวงศ์ธเนศ
นักแสดง : เอ็ม-สุรศักดิ์ วงษ์ไทย, เฟรช-อริศรา วงษ์ชาลี
เรื่องราวของ ดอกไม้ในกองขยะ : "คนที่มีอาชีพเก็บขยะ หน้าที่ความรับผิดชอบของเค้าคือจัดการของที่ทุกคนทิ้งให้มันเข้าที่เข้าทาง เค้ามีความเสียสละเพื่อพวกเรา เพื่อไม่ให้บ้านเมืองสกปรก ผมรู้สึกอย่างนั้นก็เลยหยิบเอาชีวิตของเค้ามาพูดถึงในเรื่องนี้ ตั้งแต่การเขียนบท ช่วยกันคิดลงรายละเอียด การรีเสิร์ชต่างๆ จนถึงตอนถ่ายทำ ผมรู้สึกว่ามีความอบอุ่นประหลาดอย่างบอกไม่ถูก แรงบันดาลใจในการทำเรื่องนี้มันเต็มเปี่ยมจริงๆ ทุกนาทีที่เราทำงานก็จะพยายามที่สุดที่จะไม่พลาดอะไร พยายามช่วยกันคิดช่วยกันดู กระทั่งนักแสดงเองก็ต้องมานั่งคุยกันทุกฉากว่า แค่นี้เราว่าพอหรือยัง หรืออยากจะลองแบบนี้อีกมั้ย เพิ่มอีกหน่อยมั้ย ตอนเป็นบทก็รู้สึกว่ามันโอเคแล้ว แต่พอทำงานจริงๆ มันสนุกกว่าบทเยอะเลย ไม่ว่าจะเป็นการแสดง การเลือกมุมกล้อง การถ่ายทำ การไปเลือกโลเคชั่นในการทำงาน คือทุกคนก็จะช่วยกันทำให้หนังเรื่องนี้มันประสบความสำเร็จบนเวลาที่จำกัด" จากบทสัมภาษณ์ของผู้กำกับ นนทรีย์ นิมิบุตร
ผู้กำกับอุ๋ย ยังเสริมเหตุที่ได้ เอ็ม สุรศักดิ์ กลับมารับบทนำในเรื่องนี้ "ผมเขียนบทกับน้องคนหนึ่งเมื่อเขียนออกมาเสร็จแล้ว ผมก็นึกถึงน้องชายของผมคนหนึ่งที่เคยร่วมงานกันมานานแล้ว และก็สนิทสนมกันมาก ผมเคยทำมิวสิควิดีโอให้เค้า และเค้าก็เคยมาเป็นผู้ช่วยในการทำหนังของผมหลายเรื่องคือ "คุณเอ็ม-สุรศักดิ์ วงษ์ไทย" เออ เค้าหายไปนานเนอะ ผมคิดถึงเค้า แล้ววันนึงผมก็เห็นเค้าโพสต์รูปในเฟซบุ๊ก ผมก็นึกถึงเค้าว่าเราไม่ได้ทำงานด้วยกันมานานแล้ว ผมเลยโทรไปหาเค้าเลยว่าอยากเล่นหนังอีกมั้ย เค้าบอกว่าไม่ถนัดเล่นอีกแล้ว เค้าอยู่เบื้องหลังมานานแล้ว ผมบอกว่า ลองดูเถอะ ทำหนังเพื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกัน พอพูดอย่างงี้ เค้าก็โอเค ยินดีเลยที่จะมาเล่น"
เรื่องที่ 3 : สัจจะธรณี
กำกับภาพยนตร์ : ก้องเกียรติ โขมศิริ
บทภาพยนตร์ : ก้องเกียรติ โขมศิริ, ศุทธสิทธิ์ พจน์ฐศักดิ์
นักแสดง : ม.ร.ว.มงคลชาย ยุคล, เอ-อัญชลี หัสดีวิจิตร
เรื่องราวของ สัจจะธรณี : หญิงสาวกับการเดินทางห่างไกลจากแม่ที่เลี้ยงดูเธอมา เพื่อออกตามหารากเหง้าของผู้เป็นพ่อและตัวเอง จนได้เข้าใจในที่สุดว่าครอบครัวของเธอมาจากไหน และใครคือคนที่รักเธออย่างแท้จริง พร้อมทั้งได้พลังและศรัทธาแห่งชีวิตกลับคืนมา
ผู้กำกับ ก้องเกียรติ โขมศิริ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า "เรื่องราวก็จะพูดถึงว่า ไม่ว่าเราจะเป็นใคร เราจะเดินทางหาตัวตนที่แท้จริงของเราเจอหรือไม่ บางทีมันไม่สำคัญเท่าเราเข้าใจหรือเปล่าว่าทั้งหมดมันคือการสมมติขึ้นทั้งนั้น แต่ดินต่างหากที่ไม่เคยโกหกใคร ในหลวงจึงพัฒนาดิน คอนเซปต์หลักๆ ก็มาจากชื่อของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่แปลว่า ‘พลังของแผ่นดิน’ เราก็เลยรู้สึกว่าการเล่นเรื่องดินเนี่ย น่าจะเป็นการพูดถึงสิ่งที่มีอยู่และไปข้างหน้าอย่างมั่นคงมากกว่า การไปข้างหน้ามันอาจไม่ได้พูดถึงเชิงเทคโนโลยีอย่างเดียว แต่ถ้าเราเข้าใจมันอย่างถ่องแท้แล้วเราก็จะไปข้างหน้าได้จริงๆ"
เรื่องสุดท้าย : เมฆฝนบนป่าเหนือ
กำกับภาพยนตร์ : ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล
บทภาพยนตร์ : ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล, กณิษฐา คงคาสุริยฉาย, ก้องเกียรติ จารุสกุล, สุรชัช ชื่นชมสกุล
นักแสดง : โอบ-โอบนิธิ วิวรรธนวรางค์, อุ้ม-อิษยา ฮอสุวรรณ, เฟม-ชวินโรจน์ ลิขิตเจริญสกุล, สืบ-บุญส่ง นาคภู่
เรื่องราวของ เมฆฝนบนป่าเหนือ : ผู้กำกับมะเดี่ยว เล่าเรื่องราวของหนังให้เราฟังว่า "เรื่องราวของนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่ไปเข้าค่ายอาสาโดยมีโปรเจกต์ว่าจะต้องปลูกป่าในพื้นที่ตรงนี้ 10 ไร่ โดยในวิชาเรียนเนี่ยทุกๆ ปีก็จะต้องไปปลูกสิบไร่ เพราะวิจัยมาแล้วว่า ถ้าเกิดมีผืนป่าเกิดขึ้น 10 ไร่ต่อปี ก็จะทำให้ความอุดมสมบูรณ์บนป่าต้นน้ำเกิดขึ้น แล้วก็จะทำให้พื้นที่ลุ่มน้ำนั้นมีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วย ไม่แห้งแล้ง Conflict มันก็เกิดเมื่อบริเวณป่าต้นน้ำที่เป็นที่อยู่ของชาวบ้าน เค้าก็อยากมีการเพาะปลูก มีการทำเกษตรเพื่อการเลี้ยงชีพขึ้นมา ทีนี้ความต้องการมันมีความขัดแย้งกัน นักศึกษาพวกนี้จะเอาชนะตรงนี้ได้ยังไง นอกจากเรื่องความต้องการของชาวบ้านหรือคนในพื้นที่แล้ว ก็ยังพูดถึงความโรแมนติกความรักของวัยรุ่น แน่นอนอยู่แล้วว่าเวลาขึ้นไปป่า ไปค่ายอาสาอะไรอย่างนี้ ไปกันหลายคน ไปกันสนุกสนาน ก็ย่อมต้องมีเรื่องดราม่า เรื่องกุ๊กกิ๊กอะไรกันเกิดขึ้นเป็นธรรมดา"
เบื้องหลังการถ่ายทำก็ลำบากน่าดู : ได้รับโจทย์จาก "สหมงคลฟิล์มฯ" มาก็พยายามคิด ก็ลองไปดู แล้วเราก็เป็นคนเหนืออยู่แล้ว ก็จะผูกพันกับภูเขา ป่าไม้ อ่างเก็บน้ำ ฝายนั่นฝายนี่ เราเห็นคนในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับโปรเจกต์ของท่านหลายๆ อัน เราก็ไปดูว่าตรงไหนมีการเพาะปลูก ตรงไหนมีโครงการหลวง ไปดูพื้นที่ที่ “บ้านแม่สะป๊อก อำเภอแม่วาง เชียงใหม่” ก็ถือว่าเป็นโลเคชั่นที่ยากลำบากมาก เวลาหน้าหนาวมันก็หนาวถึงใจ หน้าร้อนก็ร้อนอยู่ไม่ได้ หน้าฝนก็พื้นเฉอะแฉะ มีโคลน มีต้นไม้ที่มีหนาม มีอะไรไปหมด คือเดินไม่สะดวก แต่เราก็ไปถ่ายกันกลางดินกลางทรายตรงนั้นเลย เพราะหนังเราว่าด้วยการปลูกป่า การปลูกต้นไม้ รู้สึกว่าเหนื่อย แต่ทุกคนก็สนุกมากๆ ด้วย ตั้งแต่ไปดูโลเคชั่นแล้วก็ลื่นตกดอยบ้าง ลื่นกันหลายคนเลย จนดูไม่จบบ้าง มีฝูงควายวิ่งเตลิดตัดหน้ากองถ่าย มีช้างบุกเข้ามาในเต็นต์ เหมือนเราไปออกค่ายจริงๆ กับตัวละครเหมือนกัน นักแสดงก็ล้มคว่ำล้มหงายกันไป"
ตัวอย่างภาพยนตร์
"ของขวัญ" ไม่ได้มีแค่เพียงภาพยนตร์สั้น 4 เรื่องเท่านั้น หนังยังมีเพลงประกอบ "Pass The Love Forward ส่งต่อความรัก" ผลงานของ บอย โกสิยพงษ์ ที่แต่งขึ้นมาเพื่อประกอบหนังเรื่องนี้โดยเฉพาะอีกด้วย
บอย เล่าถึงที่มาของเพลงนี้ให้ฟังว่า "เพลงนี้เป็นเพลงที่แต่งและอยากจะให้คนได้สานต่อแนวคิดเรื่องการส่งความรักต่อกันไปเป็นทอดๆ เพื่อที่จะให้จักรวาลนี้เต็มไปด้วยความรัก ถ้าเราส่งต่อกันไปเรื่อยๆ ความเกลียดชังบนโลกของเราก็จะลดลงได้รู้สึกเป็นเกียรติมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องนี้ ผมก็ขอฝากเพลง 'Pass The Love Forward ส่งต่อความรัก' ซึ่งเวอร์ชั่นนี้ก็ได้ 9 ศิลปินคุณภาพมาร่วมกันขับร้อง มีการทำดนตรีเสริมเข้าไปเพื่อเติมต่อคอนเซปต์ที่จะส่งต่อความรัก แต่ก็ยังให้ความรู้สึกว่ามีความเป็นต้นฉบับอยู่ และมันก็เสริมกันดีกับโปรเจกต์ภาพยนตร์สั้นทั้ง 4 เรื่องนี้"
และศิลปินทั้ง 9 ที่มาร่วมร้องเพลงนี้ด้วยกันก็คือ บอย โกสิยพงษ์ , นภ พรชำนิ, โต๋-ศักดิ์สิทธิ์ เวชสุภาพร, คิว-สุวีระ บุญรอด, พิช-วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล, นนท์-ธนนท์ จำเริญ, น้อย-กฤษดา สุโกศล แคลปป์, ก้อง ห้วยไร่-อัครเดช ยอดจำปา, ไข่มุก-รุ่งรัตน์ เหม็งพานิช และ แดน-วรเวช ดานุวงศ์
MV. Pass The Love Forward ส่งต่อความรัก